Marketeer ได้มีโอกาสไปสำรวจตลาดเวียดนาม ณ เมืองโฮจิมินห์กับ YEC Bangkok เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือความเจริญของเวียดนามในเมืองโฮจิมินห์ โครงการก่อสร้างของภาครัฐและเอกชน ที่ขึ้นราวกับดอกเห็ด แต่ถึงแม้จะหน้าตาคล้ายๆ กับคนไทย แต่คนเวียดนามก็มีพฤติกรรมบางอย่างที่น่าสนใจ จนเราอยากจะเล่าให้คุณฟัง
ใครเคยไปเวียดนามอาจจะเข้าใจเป็นอย่างดี แต่ใครที่ไม่เคยไป ก็ถือโอกาสเก็บข้อมูลไว้ เวลาไปจริงๆ แล้วจะได้เตรียมตัวถูก ไม่ต้อง Culture Shock

1.มอเตอร์ไซค์ กับหมวกกันน็อค
เวียดนามเป็นประเทศที่มีมอเตอร์ไซค์เยอะมาก กลายเป็นการคมนาคมหลักของคนรายได้น้อยถึงปานกลางก็ว่าได้ ฉะนั้นคนที่ขับมอเตอร์ไซค์ทุกคน ย้ำว่าทุกคน ใส่หมวกกันน็อคทั้งคนขับและคนซ้อน ไม่แน่ใจว่ามีกฎหมายเข้มงวดเรื่องนี้รึเปล่า แต่ประเทศไทยน่าเอาเยี่ยงอย่างมากๆ
แต่เรื่องแปลกก็คือ หากมีเด็กที่ตัวเล็กๆ หรืออายุไม่ถึง 10 ขวบซ้อนมาด้วย เด็กเหล่านี้จะไม่มีหมวกกันน็อคใส่ มีเพียงหมวกแก๊ปแค่นั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสงสัยมากๆ เพราะผู้ใหญ่ 100% ใส่ แต่ทำไมกับเด็กถึงไม่ 100% บ้าง เช่นเดียวกับการขับจักรยาน คนขับจักรยานส่วนใหญ่ไม่มีหมวกเหมือนกัน ทั้งๆที่บางคนก็ขับซิ่งไม่แพ้มอเตอร์ไซค์

ใส่หมวกกันน็อค 100% เพราะมอเตอร์ไซค์คือชีวิต

อย่างในรูปนี้ และอีกหลายรูป ทุกคนใส่หมวกหมดยกเว้นเด็ก เอ๊ะ หรือหมวกไซส์เด็กหายาก

2.ไฟแดง ทางม้าลาย และการข้ามถนน
ไฟแดงในถนนโฮจิมินห์นั้นไม่ปลอดภัย 100% และยิ่งเป็นถนนที่ไม่ใหญ่มาก คนข้ามไม่เยอะ บอกเลยว่าต้องดูให้ดีๆ เพราะถึงมันจะขึ้นว่าเขียว ให้คนข้าม แต่มอเตอร์ไซค์ไม่คิดเช่นนั้น ถ้าคนขับเห็นคุณเดินช้าๆ พวกเขาก็พร้อมปาดหน้า ปาดหลังทันที แต่ถ้าเป็นแยกใหญ่ๆ ก็ปกติดีไม่มีปัญหาอะไร
แต่ถ้าแยกไหน ถนนเส้นไหนไม่มีไฟแดง ก็ตัวใครตัวมัน หรือทำตามที่ไกด์หลายคนบอกก็ได้ก็คือ “หลับตาเดินเลย เดี๋ยวรถหลบคุณเอง” พูดเล่นนะครับ อดทนหน่อยเดี๋ยวก็ได้ข้าม
3.คนเวียดนามติดดิน
ติดดินในที่นี้หมายถึงติดพื้นดินจริงๆ คนเวียดนามสามารถนั่งกับพื้นได้เป็นเรื่องปกติ หรือถ้าเป็นเก้าอี้ก็เป็นเก้าอี้ที่ไม่สูงมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเห็นได้จากริมฟุตบาทเป็นส่วนใหญ่ ส่วนในร้านอาหารก็ปกติทั่วไป
อย่างตรงหน้า City Hall ของ โฮจิมินห์ ก็จะมีลานยาวๆหลายร้อยเมตร ตลอดทางก็จะมีกลุ่มวัยรุ่นนั่งล้อมวงกันตรงพื้นเปล่าๆ ซื้อของจากร้านสะดวกซื้อมากิน หรือบางร้านก็เอาเบาะมาวางให้ลูกค้านั่งกับพื้นพอเป็นพิธี
พฤติกรรมเหล่านี้น่าจะเกิดเพราะ คนเวียดนาม (ในเมือง) ชอบออกมาพบปะกัน ออกมาพูดคุยกับเพื่อน อย่างตรงกลางลานก็มีการซ้อมเต้น B-Boy หรือ เต้นเกาหลีกัน ตอน 6 โมงเย็นก็ยังเป็นกลุ่มเล็ก พอสองสามทุ่มก็กลายเป็นกลุ่มใหญ่มีการ Battle กันด้วย ฉะนั้นการไปหานั่งร้านกาแฟ หรือร้านอาหารก็คงไม่สะดวกเท่าไหร่ ครั้นจะไปนั่งตามม้านั่งก็ไม่พอ

Ready to Sit ของจริง ถึงแม้จะไม่ได้สะอาดเหมือนยุโรป แต่คนเวียดนามก็ชิวๆ

ตั้งร้านแบบสบายๆ แจกเบาะแล้วนั่งเลย

4.ชอบสินค้าไทย แต่..
ก่อนไปที่เวียดนาม นักธุรกิจที่ไทยส่วนใหญ่มักจะบอกว่าคนเวียดนามชอบสินค้าไทย ซึ่งก็ต้องฟังหูไว้หู แต่หลังจากได้พูดคุยกับนักธุริจที่อยู่ที่เวียดนาม ก็ทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องจริง คนเวียดนามมีภาพลักษณืที่ดีต่อสินค้าไทย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ขนมเครื่องดื่ม หรือ Consumer Product แต่…
หาซื้อสินค้าไทยยากมาก เมื่อไปเดินตามห้างดังๆ ในซูเปอร์มาร์เก็ตก็จะพบว่าแบรนด์ไทยน้อยจริงๆ มีแค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่พอจะเห็นเป็นเรื่องเป็นราว แล้วคนเวียดนามไปชอบสินค้าไทยได้ไง ถ้าหาซื้อไม่ได้… ซื้อเถื่อนสิครับ ตามร้านค้าที่เป็นทางการเกินไป ซึ่งสินค้าไทยก็ลักลอบเข้ามาตามชายแดนจากลาวและกัมพูชา

หน้าตาซูปเปอร์มาร์เก็ตที่เวียดนาม ซึ่งของจากญี่ปุ่น จีน เกาหลี เยอะ แต่ของไทยน้อยมาก

พอเข้าห้างเจอร้านอาหารไทย ก็ไม่ไทยแท้สักทีเดียว เพราะฉะนั้นนี่คือโอกาส

5.Made in Vietnam แต่ไม่ยักกะถูก
เวียดนามเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าแบรนด์ดังๆเยอะมาก อย่าง Adidas และ Nike คือ Made In Vietnam หมด ลองเข้าไปดูรองเท้าหลายๆ รุ่นก็ปรากฏว่าราคาไม่ได้ถูกกว่าที่ไทยเลย เผลอๆ ซื้อที่ไทยได้ลดเยอะกว่าอีก หรือแม้แต่สินค้าพวกกล้อง อุปกรณ์กล้อง ราคาไม่ได้ต่างกันเลย ซึ่งในความคิดของผมก็คือ ก็ผลิตที่นี่ ไม่ต้องขนส่งไปไกลก็น่าจะถูกกว่าที่อื่นสิ
ซึ่งอันนี้ก็น่าจะเป็นนโยบายการตั้งราคาของแบรนด์ต่างๆ ด้วย เพราะถ้าราคาต่างกันมาก พ่อค้าแม่ค้าประเทศใกล้เคียงก็อาจมาถล่ม และส่งผลเสียต่อสาขาภายในประเทศด้วย

สินค้าตามแบรนด์ดัง ล้วนแล้วแต่ Made in Vietnam

5 ข้อที่นำมาแชร์นี้เกิดจากการสังเกตและความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น หากมีข้อเสนอแนะอะไร คอมเมนต์ใน Facebook กันได้ครับ

ที่มา marketeer.co.t